ประชาสัมพันธ์

มาทำความรู้จักพฤติกรรมของคน 5 Gen คุณอยู่ในช่วงอายุไหน และแต่ละเจนมีความแตกต่างอย่างไร

ความรวดเร็วของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร วิกฤตในด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความไม่แน่นอน ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ล้วนเป็นตัวเร่งให้มุมมองความคิดและพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ “พฤติกรรมการบริโภค” ที่จะเห็นได้ว่าหลายกระแสมาเร็วไปเร็ว พฤติกรรมต่าง ๆ เริ่มมีความปัจเจกและมีความเฉพาะตัว อีกทั้งยังเกิดปรากฏการณ์ในแต่ละเจเนอเรชันที่ต้องเร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และนำมาปรับใช้ทั้งในภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ ภาคสังคม ไปจนถึงระดับบุคคล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญต่อการสร้างแรงบวกในการเติบโต และยังช่วยให้ทุกคนพร้อมรับมือกับโลกแห่งอนาคตอีกด้วย

เพื่อฉายภาพปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละเจเนอเรชัน โครงการ “คิด” Creative Thailand ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงอยากชวนทุกคนมาเจาะลึก 5 ไฮไลต์สำคัญของคนในแต่ละรุ่นที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและการบริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2025 จากอีบุ๊ก“เจาะเทรนด์โลก 2025” หรือ “Trend 2025: “BEYOND IMAGINATION” ที่รับรองได้เลยว่ารู้ก่อน วางกลยุทธ์ได้ไวกว่า และก้าวได้ไกลกว่าใครอย่างแน่นอน

Baby Boomer (1946 – 1964) “ฮิปสเตอร์วัยเกษียณ” ที่พร้อมปล่อยจอยกับชีวิต ฟิตเรื่องสุขภาพ และเกาะติดกับเทคโนโลยี

หากใครยังมองว่าคนในเจน Baby Boomer เป็นกลุ่มคนที่แก่และไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอาจจะปรับความคิดกันใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ โดยผลสำรวจจาก Pew Research Center เผยข้อมูลสำคัญว่า เจนบูมเมอร์กว่า 85% เช็กสมาร์ตโฟนและออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน และกว่า 31% ออนไลน์อยู่ตลอดเวลา และกลุ่มบูมเมอร์ยังเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวเข้าหาระบบออนไลน์ และ e-commerce ได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะแค่เพียงปี 2024 ที่ผ่านมาผู้คนที่อายุมากกว่า 65 ปีใช้จ่ายไปกับการช้อปสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ก้าวกระโดดจากเมื่อ 3 ปีก่อน และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นได้อีก โดยสินค้าที่ผู้บริโภคบูมเมอร์นิยมช้อปก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคที่มีสัดส่วนมาก

นอกจากนี้ กลุ่มบูมเมอร์โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในสินค้ากลุ่มสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ช่วยตรวจจับข้อมูลสุขภาพ โดยคนกลุ่มนี้อาจจะมีกำลังซื้อมากถึง 15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 และความสนใจด้านสุขภาพของกลุ่มบูมเมอร์ไม่ได้สะท้อนผ่านการเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยตรวจจับข้อมูลสุขภาพแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนผ่านกลุ่มสินค้า และบริการที่พวกเขาให้ความสนใจด้วย โดยรายงานจาก Worldpanel ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มสินค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้น่าจะสนใจมากที่สุด คือสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มที่เกี่ยวกับการดูแลร่างกายและความสวยความงาม ส่วนกลุ่มบูมเมอร์ที่มีกำลังซื้อสูงอาจจะมองไปถึงเทคโนโลยี ด้านเวชศาสตร์การชะลอวัย ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสวยงาม แต่ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า เป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง อย่างเช่นเทคโนโลยีการฟื้นฟูเซลล์ในระดับดีเอ็นเอ เป็นต้น

นอกจากนี้ มุมมองของกลุ่มบูมเมอร์ที่มองตนเองและภาพลักษณ์ที่ต้องการให้คนอื่น ๆ มองเห็น ก็ไม่ใช่ภาพผู้สูงวัยที่ขังตัวเองไว้แต่ในบ้าน และปล่อยให้ตนเองร่วงโรยไปตามกาลเวลา โดยหนังสือพิมพ์ The Guardian ชี้ให้เห็นว่า แม้คนกลุ่มนี้จะอายุมากขึ้น แต่คนกลุ่มนี้ในวัยเด็กต้องผ่านการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ มามาก ทำให้เมื่ออยู่ในวัยที่มีความมั่นคงมากพอแล้ว จึงอยากจะปล่อยจอยด้วยการลองใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของ Geena Devis Institute และ Nextfifty ที่ได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง วัยบูมเมอร์เกี่ยวกับกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ โดยคนกลุ่มนี้สนใจการเดินป่า แคมป์ปิ้ง เดินเล่นตามชายหาดตามสไตล์หนุ่มสาวฮิปสเตอร์ แต่ในแบบที่พรีเมียมมากกว่า ดังนั้นธุรกิจ ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ยังมองว่าการโฆษณาออนไลน์นั้นมุ่งเป้าเฉพาะผู้บริโภคมิลเลนเนียลและเจนซี อาจจะต้องปรับมุมมองที่มีต่อกลุ่มบูมเมอร์กันใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้ก็คือ“ฮิปสเตอร์วัยเกษียณ” ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออนไลน์เช่นเดียวกัน การออกแบบการสื่อสารอาจจะต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์ผู้สูงอายุที่ทันสมัย แต่ควรต้องหลีกเลี่ยงศัพท์สแลงที่วัยรุ่นมากเกินจนทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก และเลือกใช้การผลิตคอนเทนต์วิดีโอที่มีคำบรรยายขนาดใหญ่ สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ก็จะยิ่งโดนใจวัยบูมเมอร์มากที่สุด

Generation X (1965 – 1980) “สนามอารมณ์วัยเก๋า” กลุ่มคนที่พร้อมเปย์ ถ้าคุ้มจริง และยังวิ่งหาวันเวลาเก่า ๆ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มเจนเอ็กซ์กลายเป็นสนามอารมณ์ของยุคนี้ เป็นเพราะการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่กลุ่มบูมเมอร์เริ่มลดบทบาทลง และกลุ่มเจนเอ็กซ์กลายเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจแทนทั้งในแวดวงวงธุรกิจและอิทธิพลทางการเมือง แต่สิ่งที่เจนเอ็กซ์แตกต่าง คือการรับมือกับภาวะดังกล่าวที่ดีกว่าบูมเมอร์ ทำให้การตอบโต้ของคนเจนเอ็กซ์จะเน้นไปที่การอธิบาย การรับฟังเพื่อให้เกิดการแก้ไขไปในแนวทางที่ดีขึ้น หรือ เลือกที่จะนิ่งเฉยมากกว่าการปะทะจนเกิดปัญหา

นอกจากนี้ในโลกการทำงาน คนกลุ่มนี้ยังสามารถปรับตัวได้เก่ง เข้าใจการใช้เทคโนโลยีได้ดี และมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า รับมือกับสถานการณ์ในสังคมที่ทำงานได้ดีกว่าคนเจเนอเรชันอื่น ๆ อีกด้วยความมั่นคงทั้งทางอารมณ์และฐานะทางการเงินของคนเจนเอ็กซ์ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยระดับพรีเมียมในลำดับต้น ๆ แม้จะเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดอดออม เพราะพวกเขาเข้าใจความคุ้มค่าจากการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีกว่า ทนทานมากกว่า จึงยอมที่จะจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อแลกกับการสร้างประสบการณ์การจับจ่ายที่ดีกว่าทั้งในแง่การให้บริการและคุณภาพของสินค้า การทำการตลาดเพื่อสื่อสารความคุ้มค่าและทนทานจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงโปรแกรมสมาชิกและสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าประจำที่จะช่วยดึงลูกค้าเจนเอ็กซ์ให้มีความจงรักภักดีกับแบรนด์ (Brand Loyalty) พร้อมเปย์กันแบบยาว ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับความงามซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคหญิงเจนเอ็กซ์พร้อมจ่าย และคนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มกำลังซื้อในสัดส่วนที่สูงกว่าคนเจนเนอเรชันอื่น ๆ การเจาะถึงความคิดและมุมมองที่สาว ๆ เจนเอ็กซ์มีต่อตนเองจึงสำคัญ ผู้หญิงในเจนนี้ไม่ได้อยากจะอ่อนวัย ดูเด็ก แต่พวกเธอเชื่อในความงามที่หลากหลาย ทั้งสีผิว เชื้อชาติ รูปร่าง หรือสีผม และยังยึดถือแนวคิดความงดงามตามวัยที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความงามตามวัยในรูปแบบของตนเอง เป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ความพยายามที่จะลดอายุของตนเองจนเกินจริง พวกเธอจึงพร้อมที่จะสนับสนุนและเลือกซื้อสินค้าที่สะท้อนภาพลักษณ์ผู้หญิงวัยกลางคนที่ดูดี มั่นใจ และมีความสุข เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อระดับความมั่นใจ และความรู้สึกดีของตนเองได้มากขึ้นด้วย

ส่วนการออกแบบการสื่อสารที่จะตรงใจวัยเจนเอ็กซ์ได้มากที่สุด จะต้องเข้าใจภูมิหลังของคนเจนนี้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้คนเจนเอ็กซ์มีความต้องการที่จะย้อนระลึกความทรงจำ (Nostalgia) ดังนั้น นักการตลาดหรือนักโฆษณาที่ต้องการจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริโภคเจนเอ็กซ์ อาจจะต้องเลือกออกแบบการสื่อสารที่อ้างอิงกับวัฒนธรรมป๊อปในยุค 70 80 และ 90 เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายวัยเก๋าในยุคดิจิทัลได้มากขึ้น

Millennials (1980 – 1995) “คนเหนื่อย 2025” ผู้มองหาแรงใจรายวัน สนใจการบาลานซ์ชีวิต และคิดถึงความอิสระ

วิกฤตวัยสามสิบ (Tri-Life Crisis) เป็นชะตากรรมร่วมของกลุ่มคนมิลเลนเนียล ที่ต้องเผชิญทั้งความเครียดจากการทำงาน ความคาดหวังต่อความมั่นคงทางการเงิน การสร้างครอบครัว และกรอบความสำเร็จอีกมากมายที่ต้องทำให้ได้ในช่วงวัย 30 ปี แต่จากงานวิจัยโดย Stylist ที่สำรวจกลุ่มผู้หญิงในวัย 30 ปีขึ้นไปพบว่า มีเพียง 34% เท่านั้นที่ทำตามเป้าหมายดังกล่าวได้ ความเหนื่อยล้ากับเป้าหมายที่ใหญ่จนเกินจะแบกนี้ ส่งผลให้คนเจนมิลเลนเนียลเริ่มปรับมุมมอง
เกี่ยวกับความสำเร็จจากเป้าใหญ่สู่เป้าความสำเร็จรายวัน หรือเป้าความสำเร็จที่ทำได้ในระยะสั้น ๆ เพื่อเป็นพลังใจให้ตัวเองไปต่อได้เรื่อย ๆ นั่นจึงทำให้หลายแบรนด์ที่เริ่มจับสัญญาณนี้ได้ทัน จึงออกแคมเปญทางการตลาดเพื่อส่งเสริมแนวคิดนี้ อย่างเช่นแบรนด์ Tracksmith ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์การวิ่งซึ่งได้ออกแคมเปญเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าทำลายสถิติการวิ่งของตนเองในแต่ละฤดูกาล เพื่อรับส่วนลดการซื้อสินค้าในฤดูกาลถัดไป เป็นต้น

นอกจากการตั้งเป้าหมายย่อยเพื่อสร้างคุณค่าและแรงใจรายวันแล้ว ภาวะความเครียดและกดดันจากวิกฤตวัย 30 ยังส่งผลให้คนมิลเลนเนียลสนใจการดูแลตนเองโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาวะ เพื่อที่จะให้เกิดการสร้างสมดุลที่ดีให้กับชีวิต เพราะอย่างน้อยต่อให้เป้าหมายในชีวิตยังไม่สำเร็จ แต่การยังมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก็ยังทำพอจะมีแรงขับเคลื่อนไปต่อ ทำให้สินค้าและบริการที่อำนวยความสะดวกอย่างเช่นยิม 24 ชั่วโมง สวนสาธารณะที่เปิดในช่วงดึก รวมถึงบาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารสุขภาพยามค่ำคืน ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่คนเจนนี้มองหา และยังส่งผลไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลนิยม เช่น ในกลุ่มประเทศ Blue Zone ที่เน้นไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่าย ภายใต้สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นการสร้างบาลานซ์ให้ชีวิตด้วยการแบ่งเวลาการทำงานและใช้ชีวิตให้สมดุลมากที่สุดและการท่องเที่ยวพักผ่อนที่คนมิลเลนเนียล ยินดีที่จะไปท่องเที่ยวพักผ่อนในกลุ่มประเทศ Blue Zone (โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, โลมา ลินดา แคลิฟอร์เนีย, ซาร์ดิเนีย อิตาลี, อิคาเรีย กรีซ และนิคอยา คอสตาริก้า) เพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาการการกินของคนท้องถิ่นจริง ๆ

วิกฤตวัย 30 ที่คนเจนนี้ต้องเผชิญยังส่งอิทธิพลต่อความคิดและมุมมองของคนมิลเลนเนียลที่ต้องการความอิสระในชีวิตมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราการหย่าร้างของคนในเจนนี้มีมากที่สุด รวมถึงกลุ่มประชากรที่เป็นโสด ที่คาดว่าจะมีจำนวนคนโสดในช่วงอายุ 25-44 ปีมากขึ้นถึง 45% ภายในปี 2030 นอกจากอิสระในการใช้ชีวิตแล้ว อิสระในการจับจ่ายใช้สอยก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา เพราะคนในกลุ่มนี้นิยมการใช้จ่ายผ่านธุรกรรมออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และสามารถออกแบบสินค้าในรูปแบบ personalized หรือ การออกแบบการจ่ายเงินอย่างการใช้ระบบ Buy Now Pay Later ได้อย่างอิสระ

ประเด็นสำคัญที่แบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณาต้องคำนึง หากต้องการสื่อสารกับคนมิลเลนเนียลคือคนเจนนี้มักจะนำแบรนด์ที่ชื่นชอบมาชี้วัดความเป็นตัวตนหรือสะท้อนภาพลักษณ์ของตนเองอย่างมาก อีกทั้งคนในเจนนี้ยังสนใจประเด็นทางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง การออกแบบการสื่อสารของแบรนด์จึงจะต้องเน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูดีเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ ของพวกเขา พร้อมกับการเชื่อมโยงเรื่องราวของแบรนด์กับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเจนมิลเลนเนียลตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

Gen Z (1996 – 2011) เจนนี้มาแน่ “ผู้ปั้นเทรนด์ในโลกดิจิทัล”

ในขณะที่คนวัย 30 ต้องเผชิญกับวิกฤตความสำเร็จ น้อง ๆ ช่วงวัย 20 ปี ที่เพิ่งจะก้าวสู่โลกการทำงานก็ต้องเจอกับวิกฤต “First Job Crisis” ภาวะการณ์ปรับตัวเข้ากับสังคมและการทำงานไม่ทันท่วงทีหลังโควิด – 19 ระบาด ทำให้กลุ่มเจนซีกลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะถูกคัดออกจากที่ทำงานหากบริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนคน สอดคล้องกับผลสำรวจจาก WGSN และ UNICEF ที่รายงานว่า เจนซีและเซนเนียล (กลุ่มมิลเลนเนียลช่วงปลาย คาบเกี่ยวกับคนเจนซี) กว่า 44% หางานได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับวัยเดียวกันในยุคพ่อแม่

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เจนซีมองหางานที่อิสระและยังตอบโจทย์ความสนใจของตนเองได้ จึงได้ผันตนเองเป็นออนไลน์ครีเอเตอร์ ติ๊กต็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น นั่นจึงทำให้ผู้ที่เป็นคนปั้นเทรนด์ในโลกดิจิทัลนั้นกลายเป็นคนในกลุ่มเจนซี โดยรายงานวิจัย Social Media Behavior โดย YPulse ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนเจนซีนั้นเปรียบเสมือนคนพื้นเมืองของโลกดิจิทัล โดยเฉพาะเจนซีในช่วงอายุ 18 – 24 ปีนั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทรนด์และไวรัลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากถึง 71% อีกทั้งยังเป็นกลุ่มบุคคลที่นำเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปใช้สำหรับการต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันอีกด้วย

แม้ว่าเจนซีจะเป็นพลเมืองสำคัญของโลกดิจิทัล แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะยึดโยงชีวิต กับความเป็นดิจิทัลตลอดเวลา ในทางกลับกันบางส่วนกลับมองว่า โซเชียลมีเดียทำให้พวกเขารู้สึกเหงามากขึ้น จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เรียกว่า JOLO หรือ Joy of Logging Off ที่คนเจนซีเริ่มลดการใช้งานโซเชียลมีเดียลง และเริ่มออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้นเช่น การออกไปคาเฟ่กินอาหารอร่อย ๆ กับกลุ่มเพื่อน การเข้าร่วมกิจกรรมตามชุมชนใกล้บ้าน การทำเวิร์กช็อป หรือการวางแผนท่องเที่ยว แต่ทั้งหมดนี้เจนซีก็ยังจะเลือกหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทำกิจกรรมต่าง ๆ จากนักรีวิวหรืออินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์อยู่เช่นเดิม จึงยังเป็นโอกาสทองของแบรนด์ นักการตลาด หรือนักโฆษณาที่ยังสามารถใช้สื่อออนไลน์สื่อสารกับคนเจนซี แต่โจทย์สำคัญคือ จะเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบใดที่จะมาสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม คอนเทนต์สื่อสารที่ต้องโดนใจ อีกทั้งยังต้องเพิ่มกิจกรรมทางการตลาด เพื่อเชิญชวนคนเจนซีออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านให้ได้มากขึ้น

ในด้านการจับจ่ายใช้สอย กลุ่มเจนซีเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยอย่างสมเหตุ สมผลและมองถึงความคุ้มค่าด้านราคา และคุณภาพ จึงทำให้คนกลุ่มนี้สนใจสินค้าแฟชั่นมือสอง และแฟชั่นจากแบรนด์ในประเทศมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้สินค้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้พวกเขาไม่รู้สึกลำบากจนเกินไปนักที่จะจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้แล้วกลุ่มเจนซียังนิยมที่จะใช้จ่ายเพื่อใช้บริการแอปพลิเคชันที่ช่วยพัฒนาตนเอง และการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นการสมัครใช้ ChatGPT การสมัครใช้แอปพลิเคชันเพื่อฝึกภาษา หรือแอปพลิเคชันผู้ช่วยทางธุรกิจ เป็นต้น

ALPHA (2010 – 2024) “ผู้กุมชะตาโลกอนาคต” กับการอยากเห็นผู้คนบนโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

แม้กลุ่มอัลฟายังไม่ใช่ผู้มีอำนาจการซื้อหลักในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็นับเป็นกลุ่มที่แบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณาจะต้องเริ่มให้ความสนใจ เพราะในปี 2025 กลุ่มอัลฟาจะมีจำนวนถึง 2.2 พันล้านคน และจะกลายเป็นกลุ่มเจเนอเรชันที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และอีก 5 ปีถัดไป เจนอัลฟารุ่นแรกจะมีอายุครบ 20 ปี ซึ่งพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเริ่มมีอิทธิพลในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์และตกผลึกให้ได้นั่นคือ สิ่งที่เจอเนอเรชันนี้ต้องเผชิญในระหว่างการเติบโต ที่จะทำให้พวกเขามีมุมมอง ความคิด และค่านิยมการให้ความสำคัญกับบางสิ่ง ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคได้ ข้อแรกคือ เจนอัลฟ่านับเป็นกลุ่มที่เติบโตกับโลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ทำให้เจนนี้มีความใฝ่ฝันที่จะทำงานในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากที่สุด และในอนาคตอาจจะมีตำแหน่งงาน หรืออาชีพอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลที่จะพร้อมรองรับให้เจนอัลฟาเข้าสู่โลกการทำงานแบบเต็มตัวได้

นอกจากการเป็นพลเมืองดิจิทัลเต็มขั้นแล้ว เจนอัลฟายังเติบโตมากับภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ภาวะโรคระบาด ปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบางประเด็นพวกเขาอาจจะเพียงแค่ได้มองและรับรู้ถึงปัญหา และอีกหลายประเด็นที่พวกเขาจะต้องเผชิญด้วยตนเอง ทำให้พวกเขาสนใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้คนมีความสุข และมีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น จึงมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มเจนอัลฟาจะกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ และอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเลือกประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจที่มุ่งเป้าส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ทางสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากความน่าสนใจด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชันแล้ว ภายในอีบุ๊กเจาะเทรนด์โลก 2025” หรือ “Trend 2025: “BEYOND IMAGINATION” โดย “คิด” Creative Thailand ยังนำเสนอเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 ผ่าน 4 มิติสำคัญทั้งประชากร สังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือทางความคิดสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่จะช่วยให้ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมออกเดินทางค้นหาคำตอบทั้งหมดของเทรนด์ในปี 2025 เพื่อการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไปได้ไกลยิ่งกว่าเคยได้ที่อีบุ๊กเจาะเทรนด์โลก “Trend 2025: BEYOND IMAGINATION” ดาวน์โหลดได้ฟรี! ที่ https://www.tcdc.or.th/th/all/service/resource-center/e-book/34560-Trend-2025